สอยคิวบริติชโอเพ่นสุ่มจับสลากแบ่งสายทุกรอบ

อย่างไรก็ตาม แฟนสนุกเกอร์ส่วนใหญ่ ใจจดใจจ่อรอคอยกับการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ที่ 2 ของซีซั่น 2021-2022 มากกว่า นั่นก็คือศึกบริติชโอเพ่น 2021 นั่นเอง ระหว่างวันที่ 16-22 สิงหาคมนี้ ชิงเงินรางวัลรวม 470,000 ปอนด์ หรือประมาณ 21 ล้านบาท โดยแชมป์จะได้รับ 100,000 ปอนด์ หรือประมาณ 4.4 ล้านบาท ซึ่งจะดวลคิวกันที่มอนิ่งไซด์อารีนา เมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ สถานที่เดียวกับศึกแชมเปี้ยนชิพลีก 2021(2)
เหตุผลสำคัญ ที่ทำให้สาวกกีฬาแม่นรู ให้ความสนใจกับศึกบริติชโอเพ่นมากกว่า เนื่องจากเวิลด์สนุกเกอร์ทัวร์(WST) ได้นำรายการนี้มาปัดฝุ่นจัดการแข่งขันอีกครั้งในรอบ 17 ปี นับตั้งแต่ปี 2004 เลยทีเดียว รายการนี้ นับเป็น 1 ในทัวร์นาเมนต์ที่เก่าแก่ที่อยู่คู่กับวงการคิวโลกมานานตั้งแต่ปี 1980 โดยพี่ต๋อง ศิษย์ฉ่อย วัฒนา ภู่โอบอ้อม ของไทยเรา มีโอกาสที่จะคว้าแชมป์รายการนี้ถึง 3 ครั้ง แต่ก็พลาดได้รองแชมป์ทั้ง 3 ปีติดต่อกัน ระหว่างปี 1992-1994 นับว่าน่าอาภัพแบบสุดๆ ด้วยการปราชัยในรอบชิงให้ จิมมี่ ไวท์, สตีฟ เดวิส และ รอนนี่ โอซัลลิแวน ตามลำดับ

ย้อนกลับไปในศึกบริติชโอเพ่นหนก่อนเมื่อ 17 ปีที่แล้ว “พ่อมดวิสกี้” จอห์น ฮิกกินส์ คว้าแชมป์บริติชโอเพ่น 2004 ไปครอง หลังจากรอบชิงชนะเลิศ เอาชนะ สตีเฟ่น แม็กไกวร์ นักสอยคิวรุ่นน้องชาวสกอตด้วยกันเองไปได้ 9-6 เฟรม
ไม่น่าเชื่อว่า 17 ปีผ่านไปทั้ง ฮิกกินส์ และ แม็กไกวร์ ยังคงเป็นนักสอยคิวชั้นนำของทัวร์อาชีพ ด้วยการมีอันดับอยู่ในท็อป 16 ของโลกเหมือนกันทั้งคู่ โดย ฮิกกินส์ รั้งอันดับ 7 ของโลก ส่วน แม็กไกวร์ อยู่อันดับ 9 ของโลก
แถมคนที่ตกรอบรองชนะเลิศอย่าง รอนนี่ โอซัลลิแวน(มือ 3 ของโลกจากอังกฤษ) และ ฌอน เมอร์ฟี่(มือ 5 ของโลกจากอังกฤษ) ก็ยังอยู่ในท็อป 16 ของโลกเช่นกัน เรียกได้ว่า 17 ปีผ่านไป กาลเวลาไม่ได้บั่นทอนให้ 4 คนนี้ มีฝีมือที่ตกลงไปเลย
นอกจากจะเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ถูกนำมาปัดฝุ่นจัดการแข่งขันอีกครั้งในรอบเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว ศึกบริติชโอเพ่น 2021 ยังจะเป็นทัวร์นาเมนต์แรกที่อนุญาตให้แฟนสนุกเกอร์ เข้ามาชมแบบเต็มความจุของสถานที่แข่งขันอีกด้วย
พร้อมกับจะเป็นศึกสอยคิวทัวร์นาเมนต์แรก ที่เปิดให้สาวกกีฬาแม่นรู เข้ามาชมในฮอลแข่งขันแบบเต็มความจุ นับตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 ได้โผล่ขึ้นมาซ่าบนโลกมนุษย์
หลังจากรัฐบาลอังกฤษ เพิ่งมีประกาศให้ยุติมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป แม้มหันตภัยไวรัส จะยังไม่หมดไปจากแผ่นดินผู้ดีก็ตาม
ล่าสุด ศึกบริติชโอเพ่น 2021 อาจเป็นที่น่าสนใจของบรรดาแฟนๆมากยิ่งขึ้น เมื่อเวิลด์สนุกเกอร์ทวร์(WST) ได้ประกาศเกณฑ์การจับสลากแบ่งสายออกมา

ปรากฏว่า รูปแบบการจับสลากแบ่งสาย มาแหวกแนวไม่เหมือนกับหลายๆทัวร์นาเมนต์อื่น ที่ยึดอันดับโลกเป็นหลัก
กล่าวคือรายการอื่น มือต้นๆของโลกจะได้เป็นตัวเต็ง และจะได้ออกสตาร์ทในรอบแรกพบกับมืออันดับท้ายๆก่อน กว่าที่มือพระกาฬจะได้มาเจอกันเอง ก็ต้องรอจนถึงในรอบลึกๆ
อีกทั้งในรายการอื่น จะมีผลการจับสลากแบ่งสายออกมาเป็นก้างปลาให้ได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มทัวร์นาเมนต์ นักสอยคิวแต่ละคนจะทราบล่วงหน้าว่าคู่ต่อสู้ในแต่ละรอบของตัวเอง มีโอกาสที่จะเป็นใครบ้าง
ทว่าในศึกบริติชโอเพ่น 2021 จะสุ่มจับสลากแบ่งสายแบบแรนดอม(Random)ทุกรอบแข่งขัน และอันดับโลกจะไม่มีผลต่อการวางให้เป็นตัวเต็ง ในการจับสลากแบ่งสายแต่อย่างใด ดังนั้น มืออันดับต้นๆของโลก มีโอกาสพบกันตั้งแต่รอบแรกๆ

เมื่อเสร็จสิ้นแต่ละรอบแข่งขัน ก็จะมีการสุ่มจับสลากแบบแรนดอม(Random)ไปเรื่อยๆ หากมองอีกแง่ ก็นับว่าน่าสนุกดีนักแล ที่นอกจากจะลุ้นกับเกมการประชันเพลงคิวในแต่ละแมตช์แล้ว ยังต้องลุ้นกับการจับสลากแบ่งสายในแต่ละรอบอีกด้วย
หากพูดให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น ก็เปรียบเสมือนศึกชู้ตเอาท์(เฟรมเดียวน็อกเอาท์)ในอดีต หรือฟุตบอลเอฟเอคัพอังกฤษ ที่แต่ละรอบ จะจับสลากแบ่งสายแบบสุ่มแรนดอม(Random) ยอดทีมที่อยู่ในอันดับต้นของพรีเมียร์ลีก มีโอกาสได้มาจ๊ะเอ๋กันในรอบแรกๆ
ข้อดีของการจับสลากแบ่งสายแบบนี้ มืออ่อนๆมีโอกาสได้แชมป์มากยิ่งขึ้น หากผลการจับสลากแต่ละรอบเป็นใจ
แต่ข้อเสียก็มีเช่นกัน เพราะมือดังระดับซูเปอร์สตาร์ อาจร่วงตกรอบเร็ว ในกรณีที่จับสลากมาดวลกันเองในรอบต้นๆ และหากนักสอยคิวชื่อดังเหล่านี้ทยอยตกรอบจนแทบไม่เหลือใครผ่านเข้ารอบลึกๆ ย่อมมีผลต่อยอดเรตติ้ง

หลังจากประกาศรูปแบบจับสลากแบ่งสายออกมาแล้ว เชื่อว่าเวิลด์สนุกเกอร์ทัวร์(WST) คงจะโดนวิจารณ์โดยนักสนุกเกอร์และสื่อมวลชนอย่างแน่นอน เพราะเชื่อว่าบรรดามือดังๆทั้งหลาย คงไม่เห็นด้วยกับวิธิจับสลากแบ่งสายแบบลุ้นระทึกทุกรอบแบบนี้ โดยที่อันดับโลกไม่มีความหมายใดๆเลย ไม่ต่างอะไรกับการลุ้นลอตเตอรี่
ก่อนหน้านี้ องค์กรคิวโลก เพิ่งโดนวิจารณ์มาอย่างหนัก หลังจากจัดให้ศึกบริติชโอเพ่น 2021 แข่งขันแบบเกมสั้น โดยรอบแรก(128 คน) จนถึงรอบ 16 คนสุดท้าย แข่งกันในระบบแค่ 3 ใน 5 เฟรมเท่านั้น ส่วนรอบก่อนรองชนะเลิศและรอบรองชนะเลิศ ดวลคิวกันในระบบ 4 ใน 7 เฟรม ขณะที่รอบชิงชนะเลิศ แข่งกันเพียง 6 ใน 11 เฟรม
ส่วนใหญ่วิจารณ์ไปในทางที่องค์กรคิวโลก จัดการแข่งขันแบบไม่ให้เกียรติรายการเก่าแก่ ด้วยการจัดให้แข่งแบบจำนวนเฟรมที่สั้นเยี่ยงนี้